2 มกราคม 2555

ว่าด้วยกาลเทศะและวุฒิภาวะ

มนุษย์ทุกคนล้วนแตกต่างกัน บางคนอาจเหมือนกันในบางเรื่อง หรือบางคนอาจเหมือนกันในหลายต่อหลายเรื่อง แต่จะมากจะน้อย มนุษย์ทุกคนก็แตกต่างกัน

ช่วงวัยคือความต่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่ง การนิยามกว้างๆ ว่าช่วงวัยแบ่งได้เป็น 'เด็ก' และ 'ผู้ใหญ่' ทำให้เราได้เห็นการปะทะกันของความต่างแบบกว้างๆ ได้ ทั้งกระบวนทัศน์ในการมองโลก การให้คุณค่ากับสิ่งที่ต่างกัน ไปจนถึงในการกระทำเดียวกัน 'เด็กและผู้ใหญ่' อาจเห็นความดี-ชั่วต่างกันอย่างสุดขั้วเลยก็เป็นได้

เด็กแต่งตัวตามที่พอใจและสบายตัว
ผู้ใหญ่แต่งตัวตามความหมายของปลายทาง

เด็กไม่ระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ผู้ใหญ่แจกแจงปัจจัยเสี่ยงก่อนลงมืออย่างรอบด้าน

เด็กเห็นปรากฏการณ์ตรงหน้าด้วยอารมณ์อันอ่อนไหว
ผู้ใหญ่มองปรากฏการณ์ตรงหน้าด้วยความเข้าใจที่ไปที่มา

เด็กมองหาความวูบวาบของชีวิต และเลือกพิชิตมันด้วยพลังอันล้นเหลือ
ผู้ใหญ่สืบหาแนวทางที่คงที่ เพื่อที่จะมีชีวิตที่เหลืออย่างคงทน

ฯลฯ

หนทางที่จะทำให้ความต่างเหล่านั้นสามารถมาอยู่ด้วยกันได้โดยไม่เกิดปัญหามากนัก พวกเราคงต้องปรับตัวด้วยการลดนู้นนิด-เพิ่มนี่หน่อย

เด็กน้อยคงต้องค่อยๆ เรียนรู้ที่จะทำอะไรให้สมเหตุสมผล และผู้ใหญ่เองก็คงต้องอาศัยประสบการณ์มาเลือกสรรท่าทีในการแสดงออกให้กำลังพอดี

มนุษย์พยายามสืบค้น 'หนทาง' นั้น ที่ทางอันจะทำให้ความต่างของวัยเวลาสามารถ 'อยู่ร่วมกัน' อย่างปกติสุข พวกเขาค่อยๆ คิดค้นและสร้างความหมายบางอย่างขึ้นมาในใจพวกเขา และตั้งชื่อมันว่า 'กาลเทศะและวุฒิภาวะ' กระทั่งกลายเป็นอุปกรณ์จำเป็นในชีวิตของสองช่วงวัยอยู่ในปัจจุบัน

สิ่งสมมุติทั้งสองมีประโยชน์ยิ่งในการปรับตัวเข้าหากัน ไม่ให้กระทำตามใจจนก้าวเกินไปยังพื้นที่ผู้อื่น แต่จริงหรือไม่ว่า ? ความพยายามที่จะผสานความแตกต่างให้ออกมากลมกลืนเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักอยู่ทุกวินาทีว่า ขณะที่โลกใบนี้มี 'บางสิ่งบางอย่างสิ่ง' มาทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข มนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ควรได้รับ 'เสรีภาพ' ในการทำอะไรๆ ไปพร้อมกันด้วย

สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นอย่าง 'รัฐธรรมนูญ' ได้ให้ความหมายของคำว่า 'เสรีภาพ' ไว้ว่า

ภาวะความเป็นเสรีที่มนุษย์หรือบุคคลสามารถทำอะไรก็ได้ตามที่ใจปรานารถนา ตราบเท่าที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฏหมายของบ้านเมืองหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น

หลายต่อหลายครั้ง เราพบว่า 'ความหมาย' ที่สร้างขึ้นเพื่อการอยู่ร่วม กลับกลายเป็นการคุกคาม 'เสรีภาพ' ของคนหนึ่งไปพร้อมๆ กับสถาปนา 'คุณงามความดี' ให้กับใครอีกคนหนึ่ง หรือหนักเข้าก็เป็นการพยายามคุกคามอย่างจงใจไปเลย

พูดแบบห้วนสั้นที่สุด 'กาลเทศะและวุฒิภาวะ' เป็นสิ่งที่สามารถอธิบาย 'ความเหมาะสม' ในการปฏิบัติต่อกันได้เพียงบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ลองจินตนาการดูเล่นๆ ว่าที่ผ่านมา เราเคยรู้สึกถูกขัดใจ และต้องฝืนทำอะไรสักอย่าง เพื่อไม่ให้โดนสายตาคนรอบข้างทำร้ายบ้างไหม ? อีกนิดหนึ่ง ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ผิดบาปร้ายแรงอะไรด้วยนะ



........



เด็กจำนวนไม่น้อยก็ถูกกล่าวโทษด้วยคำว่า 'ไม่มีกาลเทศะ'
ผู้ใหญ่บางคนถูกจำกัดการกระทำด้วยคำว่า 'วุฒิภาวะ'

หากเทียบเป็นการปรุงอาหาร การอยู่ร่วมกันของส่วนผสม คงไม่ต้องถึงกับเป็นการปรุงรสที่หอมหวานรสชาติดี-เสมอไป (แกงบางถ้วยสามารถโคตรอร่อยกับคนหนึ่ง แต่สามารถรสชาติแย่สุดๆ กับอีกคนหนึ่งได้เสมอ) เพียงแค่สามารถทานได้โดยไม่ท้องเสีย ก็ถือว่าน่าพอใจมากแล้ว เพราะความแตกต่างมีอยู่ในทุกสิ่ง จนเรียกได้ว่าไม่มีอะไร-สิ่งใดมีความเหมือนกันเลยในโลก

แต่น่าแปลกใจยิ่ง ที่บนเส้นทางแห่งการเกิด-ดับ มนุษย์บางคนเลือกที่จะการันตีความดีงามไว้กับสิ่งที่เหมือนตนเอง และขับไล่สิ่งแตกต่างออกไปอย่างฉับพลัน เราจะเอาอะไรมาวัดความผิดถูกในการกระทำใดๆ ของใครสักคน คงมีเพียงความพึงพอใจ ณ ช่วงเวลานั้นๆ ที่จะใช้ทำหน้าที่ยืนยันกับตัวเราได้

จริงหรือไม่ว่า ? หลายต่อหลายครั้ง มนุษย์ก็ไม่เคยพอใจอะไรที่ต่างจากตัวเองได้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น